วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คำถามท้าย บทที่ 7 ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

1.คำสั่งของระบบอินเทอร์เน็ตมีอะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ 1. เทลเน็ต
เทลเน็ต (Telnet) เป็นโปรแกรมประยุกต์ที่มีคำสั่งสำหรับให้ผู้ใช้ติดต่อกับโฮสต์เครื่องอื่นผ่านระบบเครือข่ายถ้าคำสั่งนี้ทำงานได้เรียบร้อย ผู้ใช้ก็จะสามารถใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ที่โฮสต์เครื่องนั้นได้เหมือนกับว่าผู้ใช้กำลังนั่งทำงานอยู่กับโฮสต์เครื่องนั้น รูปแบบการใช้เทลเน็ต คือ “telnet ”โดยที่ หมายถึงชื่อของเครื่องโฮสต์ที่ผู้ใช้ต้องการติดต่อด้วย โดยปกติการเข้าไปใช้งานที่โฮสต์เครื่องอื่นจะต้องมีการตรวจสอบสิทธิในการใช้งาน เช่น ผู้ใช้ จะต้องป้อนชื่อผู้ใช้ (User Name) พร้อมทั้งรหัสผ่าน (Password) ซึ่งอาจเป็นชื่อจริงของผู้ใช้หรือเป็นคำที่ไม่มีความหมาย ใด ๆ ก็ได้ ในบางระบบจะเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าไปใช้งานได้เป็นบางส่วนก็จะกำหนดชื่อผู้ใช้เป็นคำว่า “Guest” หรือ “Anonymous” และมักจะกำหนดรหัสผ่านเป็นคำเดียวกันหรือเป็นที่อยู่ระบบเครือข่ายของผู้นั้น
แม้ว่าเทลเน็ตจะเป็นคำสั่งที่มีประโยชน์มากและมีผู้ใช้งานมากในอดีต แต่ในปัจจุบันผู้ใช้นิยมหันมาใช้โปรแกรมประเภทเว็บบราวเซอร์ เช่น Internet Explorer หรือ Netscape Navigator ที่มีความสะดวกสบายในการใช้งานมากกว่า จนทำให้ไม่ค่อยมีคนรู้จักคำสั่งเทลเน็ตมากเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตามการติดต่อเพื่อใช้บริการบางอย่างที่โฮสต์บางแห่งก็ยังคงจำเป็นต้องใช้คำสั่งนี้อยู่
2. เอฟทีพี
เอฟทีพี (File Transfer Protocol; FTP) เป็นคำสั่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนแฟ้มข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเครือข่ายในอดีตการใช้คำสั่งนี้เป็นการทำงานแบบ Command Line เช่นเดียวกับคำสั่งเทลเน็ต ปัจจุบันโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้โดยการซ่อนคำสั่งนี้ไว้ภายในตัวเอง เวลาที่ผู้ใช้ทำการรับหรือส่งแฟ้มข้อมูลโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ก็จะเรียกใช้คำสั่งเอฟทีพีให้โดยอัตโนมัติ
การที่ผู้ใช้รับสำเนาแฟ้มข้อมูลมาจากโฮสต์ เรียกว่า ผู้ใช้กำลังดาวน์โหลด (Download) แฟ้มข้อมูล นั่นคือโฮสต์จะจัดการส่งสำเนาแฟ้มข้อมูลมาเก็บไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ส่วนเวลาที่ผู้ใช้ส่งสำเนาแฟ้มข้อมูลไปยังโฮสต์ เรียกว่า อัพโหลด (Upload) แฟ้มข้อมูลคือสำเนาของแฟ้มข้อมูลที่เครื่องผู้ใช้ถูกส่งไปเก็บไว้ที่เครื่องโฮลต์ในทั้งสองกรณี เมื่อการทำงานเสร็จสิ้นแล้ว จะมีแฟ้มข้อมูลอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่องซึ่งเหมือนกันทุกประการ
การออกคำสั่งเอฟทีพีคล้ายกับคำสั่งเทลเน็ต คือ FTP ในกรณีนี้ผู้ใช้เพียงแต่ใช้เม้าส์ (Mouse) คลิกไปที่ชื่อแฟ้มข้อมูลที่ต้องการ ตัวโปรแกรมก็จะจัดการเรียกใช้คำสั่ง เอฟทีพี เพื่อดึงแฟ้มข้อมูลนั้นมาให้ผู้ใช้โดยอัตโนมัติในกรณีที่ผู้ใช้เลือกใช้คำสั่งเอฟทีพีโดยตรง ผู้ใช้จะต้องค้นหาแฟ้มข้อมูลที่ต้องการให้พบแล้วจึงใช้คำสั่งสำหรับดาวน์โหลดแฟ้มข้อมูลนั้นคือ GET หรือถ้าต้องการส่งแฟ้มข้อมูลไปที่เครื่องโฮสต์ก็จะใช้คำสั่งอัพโหลดคือ SEND โปรแกรมเว็บบราวเซอร์ Netscape Navigator ซึ่งมีบริการต่าง ๆ รวมทั้งเอฟทีพีอยู่ใน ตัวเอง
ในกรณีนี้ผู้ใช้สามารถใช้โปรแกรมบราวเซอร์เข้าไปดูรายการแฟ้มข้อมูลที่เว็บไซต์ที่ต้องการได้ เมื่อพบแฟ้มข้อมูลที่ต้องการก็สามารถดาวน์โหลดแฟ้มข้อมูลนั้นได้โดยการใช้เม้าส์คลิกที่ชื่อแฟ้ม ข้อมูลนั้น
โปรแกรมบราวเซอร์ก็จะจัดการดึงสำเนาแฟ้มข้อมูลนั้นเข้ามาเก็บไว้ที่เครื่องผู้ใช้ให้โดยอัตโนมัติ แฟ้มข้อมูลที่มีไว้ให้ดาวน์โหลดนั้นมีมากมาย บางกลุ่มเรียกว่าเป็น Shareware ซึ่งหมายถึงโปรแกรมใด ๆ ก็ตามที่มีวัตถุประสงค์ในการค้า แต่ยินยอมให้ผู้ใช้นำโปรแกรมไปทดลองใช้ก่อน เมื่อ ผู้ใช้ตัดสินใจที่จะใช้โปรแกรมนั้นอย่างจริงจังก็ค่อยจัดการชำระเงินให้ภายหลัง มิฉะนั้นผู้ใช้ก็จะลบโปรแกรมนั้นทิ้งไป ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้ใช้ทั่วไป เรียกว่า FAQs (Frequently Asked Questions) ข้อมูลประเภทนี้หมายถึงปัญหาที่มีผู้ใช้สอบถามมายังผู้ให้บริการ เช่น บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และทางผู้ให้บริการก็มีคำตอบให้ผู้ใช้คนอื่น ๆ ที่มีคำถามในลักษณะเดียวกันก็สามารถพบคำตอบได้ในทันที หรือแม้จะยังไม่มีคำถามนั้น ๆ ผู้ใช้ก็จะสามารถจดจำคำตอบเอาไว้ใช้ แก้ปัญหานั้นได้ในภายหลัง
3 .การกำหนดที่อยู่บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
การเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบเครือข่ายอาจทำได้ทั้งการเชื่อมต่อผ่านเครื่องโฮสต์ผู้ให้บริการ (ISP) หรือเชื่อมต่อเข้าโดยตรงกับระบบเครือข่ายผ่านจุดเชื่อมต่อ เช่น เราเตอร์ ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทคือโหนดโฮสต์ และโหนดธรรมดา โหนดโฮสต์ (Host Node) หมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายย่อยเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ต โหนดธรรมดา (Non-host Node) หมายถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตทางอ้อม ระบบเครือข่ายย่อยหนึ่งระบบจะต้องมีคอมพิวเตอร์อย่างน้อยหนึ่งเครื่องที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรง จึงเรียกเครื่องนี้ว่าเป็นโหนดโฮสต์ ส่วนเครื่องอื่น ๆ ที่เหลือจะเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโหนดโฮสต์ จึงจัดเป็นประเภทโหนดธรรมดา
4.การกำหนดที่อยู่แบบไอพี
คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องไม่ว่าจะเป็นโหนดโฮสต์หรือโหนดธรรมดาจะต้องมีที่อยู่สำหรับการอ้างอิงเป็นของตนเอง ซึ่งจะต้องไม่ซ้ำกับที่อยู่ของโหนดใด ๆ ทั่วทั้งโลก เรียกว่า ที่อยู่แบบไอพี (IP Address) ที่อยู่แบบไอพีเป็นเลขฐานสองที่มีความยาว 32 บิต เพื่อความสะดวกในการอ้างอิง จึงใช้วิธีเขียนเป็นเลขฐานสิบจำนวน 4 หมายเลขติดต่อกันโดยมีเครื่องหมาย “.” เป็นตัวคั่น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Dotted-quads” เช่น 202.29.14.1 เป็นหมายเลขไอพีหนึ่งหมายเลขเท่านั้น ตัวเลขแต่ละตัวมาจากเลขฐานสองจำนวน 8 บิต ดังนั้นเลขแต่ละตัวจึงมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 225 หมายเลขไอพีจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจะใช้บอกหมายเลขเครือข่ายและส่วนที่สองใช้บอกหมายเลขโหนดที่อยู่ในระบบเครือข่ายนั้น ๆ
ภายในระบบเครือข่ายหนึ่ง อาจมีการแบ่งโครงสร้างออกเป็นระบบเครือข่ายย่อยเรียกว่า“Subnet” ได้โดยการนำหมายเลขไอพีมาผ่านกระบวนการเรียกว่า “Subnetting” เช่น องค์กรหนึ่งแบ่งโครงสร้างภายในองค์กรออกเป็นระบบเครือข่ายย่อย โดยนำหมายเลขไอพีมาตรฐานมาใช้ เราเตอร์ขององค์กรนี้จะรับข้อมูลทั้งหมดที่มีหมายเลขไอพีสองตัวแรกเป็น 202.5 โดยไม่ได้สนใจหมายเลขสอง ตัวหลังเพราะเป็นหมายเลขโหนดภายในระบบเครือข่ายนี้ แต่เนื่องจากองค์กรนี้มีการแบ่งเครือข่ายย่อย ในที่นี้สมมุติให้ใช้หมายเลขตัวที่สามเป็นตัวบอกหมายเลขเครือข่ายภายในองค์กร ดังนั้นเราเตอร์จะจัดการส่งแพ็กเกตข้อมูลออกไปตามหมายเลขที่กำหนด จะเห็นได้ว่าวิธีการนี้ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างระบบเครือข่ายย่อยภายในได้โดยยังคงใช้หมายเลขไอพีมาตรฐานตามปกติ และเครือข่ายย่อยนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนหรือขออนุญาตจากผู้ใด
ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตมากจนกระทั่งหมายเลขไอพีที่สร้างขึ้นมานั้นอยู่ในสภาพที่เกือบจะไม่พอใช้งานแล้ว จึงได้มีการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อมาใช้งานแทนระบบไอพี เช่น วิธี Classless Internet Domain Routing (CIDR) ที่อยู่แบบนี้มีโครงสร้างส่วนแรกเหมือนกับที่อยู่ไอพี ตามด้วยส่วนเพิ่มเติมเรียกว่า IP prefix เช่น 186.100.0.0/20 ตัวเลขที่เป็น IP prefix ในที่นี้คือ “/20” เป็นการบอกให้ทราบว่า จากหมายเลขทั้งหมด 32 บิตนั้น ให้ใช้ 12 บิตแรกเป็นหมายเลขเครือข่าย และ 20 บิตที่เหลือเป็นตัวบอกหมายเลขโฮสต์
วิธีการนี้ช่วยแก้ปัญหาขนาดของหมายเลขในแต่ละกลุ่มของหมายเลขไอพีที่อาจจะใหญ่หรือเล็กเกินไป เช่น องค์กรหนึ่งมีจำนวนโหนด 900 โหนด ถ้าใช้หมายเลข ไอพีกลุ่ม B ก็จะใหญ่เกินไป แต่ถ้าใช้กลุ่ม C ก็จะต้องใช้หมายเลขเครือข่ายถึงสี่หมายเลข เช่น 202.29.14.*,202.29.15.*, 202.29.16.* และ 202.29.17.* เมื่อเปลี่ยนมาใช้หมายเลขแบบ CIDR ก็เพียงแค่กำหนด IP prefix เป็น “/10” เท่านั้นก็จะสามารถใช้หมายเลขเครือข่ายเพียงหมายเลขเดียวที่มีจำนวนโหนดได้ตั้งแต่ 1 ถึง 1,024 โหนด เป็นต้น
จากแนวโน้มการใช้อินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้หมายเลข IP Address ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในคลาส B และคลาส C ทำท่าว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการในระยะอันใกล้ จึงได้มีการกำหนดมาตรฐาน IP Address ขึ้นใหม่ เรียกว่า IPv6 ซึ่งประกอบด้วยเลขฐานสิบหก 4 ตัว หรือ 16 ไบต์ จำนวน 8 ชุด แยกกันด้วยเครื่องหมายโคลอน (:) ตัวอย่างเช่น 0000:0001:0002:0003:0123:2345:6789:ABCD จำนวนไบต์ทั้งหมด 128 ไบต์ของหมายเลข IP Address ใหม่นี้ดูแล้วค่อนข้างจะยาวมาก จึงได้มีการกำหนดว่า หากเลขชุดใดที่มีค่าเป็น 0 ทั้งหมด (0000) ให้ใช้เครื่องหมาย (:) แทน

5. ระบบดีเอ็นเอส
แม้ว่าหมายเลขไอพีซึ่งเป็นเลขฐานสองขนาด 32 บิตจะถูกกำหนดให้เขียนด้วยรูปแบบ Dotted-quads แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นการยากสำหรับการจดจำอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อต้องการจดจำ หมายเลขไอพีเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการแก้ไขโดยกำหนดรูปแบบเป็นตัวหนังสือเพื่อให้สะดวกแก่การจดจำ เรียกว่า ชื่อโดเมน (Domain name) เช่น หมายเลขไอพี 202.29.14.3 เมื่อเขียนในรูปแบบตัวหนังสือจะกลายเป็น “ribr.ac.th” ซึ่งง่ายแก่การจดจำมาก
อย่างไรก็ตาม ชื่อโดเมนไม่สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารบนระบบอินเทอร์เน็ตได้ โดยตรง องค์กร InterNIC จึงได้กำหนดวิธีการแก้ปัญหานี้โดยใช้ ดีเอ็นเอส (Domain Name System or Domain Name Services) ซึ่งเป็นอุปกรณ์หรือคอมพิวเตอร์ที่บันทึกฐานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโดเมนและหมายเลขไอพีของแต่ละองค์กร ดีเอ็นเอสจะมีอยู่จำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีหน้าที่ในการแปลหมายเลขไอพีให้เป็นชื่อโดเมนหรือแปลชื่อโดเมนให้เป็นหมายเลขไอพีตามแต่ผู้ใช้ต้องการ ดังนั้นผู้ใช้จึงสามารถใช้ชื่อโดเมนที่ง่ายต่อการจดจำในการสื่อสารบนระบบอินเทอร์เน็ตได้
ดีเอ็นเอสมีการแบ่งโครงสร้างออกเป็นแบบลำดับชั้น เรียกว่า โดเมน (Domain) ซึ่งจะหมายถึงกลุ่มของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์บนระบบเครือข่ายที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยใช้ กฎระเบียบชุดเดียวกัน ชื่อโดเมนระดับบนสุดหรือชื่อโดเมนหลัก (คือชื่อที่อยู่ส่วนท้ายสุดในชื่อโดเมน) มักจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดสำหรับคนทั่วไปมีความหมายเปรียบเทียบได้กับชื่อของประเทศ แต่ในที่นี้คือชื่อขององค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นบนระบบอินเทอร์เน็ต ในปี พ.ศ. 2538 ชื่อโดเมนหลักที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ “.com” (อ่านว่า “ดอด-คอม”, ย่อมาจากคำว่า commercial)
ชื่อโดเมนอาจมีชื่อโดเมนย่อย (Subdomain) แทรกอยู่ระหว่างชื่อโฮสต์และชื่อโดเมนรองก็ได้ คำว่า “nxt2” เป็นชื่อโฮสต์ ชื่อต่อมา “cso” เป็นชื่อโดเมนย่อย ซึ่งในที่นี้เป็นชื่อคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งอิลินอยส์ ที่สหรัฐอเมริกา ชื่อต่อมา “uiuc” เป็นชื่อโดเมนรองภายใต้ชื่อโดเมนหลักคือ“edu” โดยปกติแต่ละองค์กรจะเป็นผู้จัดการบริหารชื่อโดเมนย่อยเองโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนกับ องค์กรอื่น
6 .การกำหนดที่อยู่สำหรับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
ที่อยู่สำหรับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail Addresses) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกจะเป็นที่อยู่สำหรับแต่ละบุคคล (Individual Addresses) ซึ่งมักจะเป็นชื่อที่ผู้ใช้ใช้ในการติดต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ (Log-in Name) และส่วนที่สองคือชื่อโดเมน (Domain Name) ซึ่งเป็นชื่อโดเมนของระบบเครือข่ายที่ผู้ใช้เป็นสมาชิกโดยมีเครื่องหมาย “@” คั่นอยู่ตรงกลาง เช่น chanin@cmru.ac.th คำว่า “chanin” คือชื่อผู้ใช้ และ “cmru.ac.th” คือชื่อโดเมน ซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ใช้โดเมนนี้
องค์กรที่ต้องการใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องจัดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างน้อยหนึ่งเครื่องทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Mail Server) ซึ่งจะมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งช่วยจัดรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ใช้ในระบบนั้น องค์กรส่วนใหญ่จะรวมระบบ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ภายในระบบเครือข่ายตนเองเข้าเป็นระบบเดียวกันกับระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดความสะดวกทั้งแก่ผู้ใช้และผู้บริหารระบบ ในขณะที่องค์กรอีกส่วนหนึ่งแยกระบบทั้งสองออก จากกันเพื่อประโยชน์ในการควบคุมรักษาความปลอดภัย

2.วิธีการทำงานของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ 1. สายสื่อสารหลักบนระบบอินเทอร์เน็ต
กลุ่มบริษัทไอเอสพีจะรวมตัวเข้าด้วยกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่เรียกว่า เอ็นเอสพี (Network Service Providres; NSP) ซึ่งมีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการสายสื่อสารหลัก (Network Backbones) ที่เชื่อมต่อกับเอ็นเอสพีอื่นที่อยู่ภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ เอ็นเอสพีจะใช้สื่อที่มีความเร็วและความกว้างช่องสื่อสารสูงมาก เช่น ใช้สายใยแก้วนำแสง (หลายสิบหรือหลายร้อยเส้น) ช่องสัญญาณดาวเทียม (อาจใช้ช่องสัญญาณทั้งหมดของดาวเทียมดวงหนึ่ง) หรือแม้กระทั่งสายวงจรเช่าความเร็วสูงจากบริษัทโทรคมนาคมทั่วไป
การเชื่อมต่อจากไอเอสพีเข้ามาที่เอ็นเอสพีมักจะใช้สายสื่อสารระดับ T1 หรือ DS1 (ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา) หรือ E1 (ตามมาตรฐานยุโรป) ไอเอสพีขนาดใหญ่อาจใช้สายเชื่อมต่อหลายเส้น การเชื่อมต่อระหว่างเอ็นเอสพีด้วยกัน ก็อาจใช้สายสื่อสารตั้งแต่ระดับ T1 ขึ้นไปถึง T4 ที่มีความเร็วระหว่าง 44 ถึง 655 ล้านบิตต่อวินาที
2 .เราเตอร์
เราเตอร์ (Router) เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องมีใช้งานบนระบบเครือข่าย จะทำหน้าที่เสมือนเป็นจราจรควบคุมทิศทางการไหลของข้อมูล นอกเหนือจากการรับและส่งแพ็กเกตข้อมูลแล้ว เราเตอร์มีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการควบคุมระหว่างเราเตอร์ด้วยกันเอง เพื่อเก็บไว้ใช้ในการตัดสินเลือกเส้นทางส่งแพ็กเกตที่เหมาะสมโดยเฉพาะในกรณีที่เส้นทางเดิมที่ใช้อยู่เป็นประจำนั้นมีความคับคั่งจนเกินไปหรือเกิดการเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ในการใช้งานจริงเราเตอร์จะต้องจัดการส่งแพ็กเกตไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหลายล้านเครื่องกระจายอยู่ทั่วโลกให้ถูกต้องตามหมายเลขไอพีที่แต่ละเครื่องได้จดทะเบียนไว้ เราเตอร์ไม่สามารถจะบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ได้จึงใช้วิธีการตัดสินเบื้องต้นสองอย่างคือการส่งแพ็กเกตเข้าไปในระบบเครือข่ายย่อยที่เราเตอร์เป็นผู้ควบคุมอยู่หรือไม่ก็ส่งต่อไปยังเราเตอร์ของระบบเครือข่ายย่อยอื่น เช่น ผู้ใช้คนหนึ่งในกรุงเทพ ส่งแพ็กเกตออกไปยังผู้ใช้อีกคนหนึ่งที่อังกฤษ เราเตอร์ตัวแรกที่รับแพ็กเกตจะจัดการค้นหาเราเตอร์ตัวต่อไปที่มีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังเป้าหมาย เราเตอร์ตัวต่อมาจะจัดการส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ จนแพ็กเกตมาถึงเราเตอร์ที่สิงคโปร์ ซึ่งจะส่งแพ็กเกตนั้นไปยังโฮสต์ที่ดูแลไอพี ผู้รับนั้นและจะถูกส่งต่อไปถึงเครื่องผู้รับในที่สุด
เราเตอร์มีหน้าที่หลักในการตัดสินเลือกเราเตอร์ตัวที่เหมาะสมที่สุดที่จะต้องรับแพ็กเกตข้อมูลในลำดับต่อไป เนื่องจากสภาวะการทำงานบนระบบเครือข่ายมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นความเหมาะสมก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เหมือนกัน เช่น เราเตอร์ตัวที่เคยเลือกใช้งานเป็นประจำนั้นเกิดหยุดทำงาน ก็จำเป็นจะต้องเลือกเราเตอร์ตัวใหม่ซึ่งอาจจะเป็นเส้นทางใหม่แต่ก็สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายเดิมได้เหมือนกัน นอกนั้นก็มีสาเหตุต่าง ๆ มากมายทำให้เราเตอร์แต่ละตัว จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอยู่เสมอเพื่อจะได้สามารถเลือกเส้นทางเดินข้อมูลที่ดีที่สุดได้ตลอดเวลา
การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้งานก็อาจกลายเป็นเหตุทำให้วิธีการจัดส่งข้อมูลต้องเปลี่ยนไป ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีเอทีเอ็ม (Asynchronous Transfer Mode; ATM) เข้ามาใช้งาน เทคโนโลยีนี้จะแบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เรียกว่า เซลล์ (Cell) ส่งออกไปทางสายสื่อสารด้วยความเร็วที่สูงมาก เส้นทางเดินข้อมูลจะถูกกำหนดขึ้นก่อนการส่ง และข้อมูลทุกเซลล์จะต้องใช้เส้นทางนั้นตลอดการสื่อสารครั้งนั้น อย่างไรก็ตามในการสื่อสารครั้งต่อไปที่เกิดขึ้นกับคู่สื่อสารเดิมก็อาจเลือกใช้เส้นทางใหม่ได้ ด้วยความสามารถในการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงมากนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการส่งข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตอาจเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเอทีเอ็มทั้งหมด
3 .ผู้ให้บริการ
ผู้ให้บริการหรือเซิร์ฟเวอร์ (Server) เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการให้บริการข้อมูลข่าวสารอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างโดยเฉพาะ เช่น ไฟล์เซิร์ฟเวอร์ (File Server) ให้บริการเก็บรักษาและแจกจ่ายแฟ้มข้อมูล ดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์ (Database Server) ให้บริการเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล เครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรงสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการได้ทั้งสิ้น ในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวสารและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมากจึงเกิดเป็นผู้ให้บริการแบบใหม่ ๆ เช่น World Wide Web, Gopher, และ E-mail เป็นต้น
โพรโทคอล TCP/IP เป็นโพรโทคอลที่นำมาใช้ในระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ต่างชนิดกันสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ โพรโทคอลนี้ประกอบด้วยสอง โพรโทคอลคือ TCP (Transmission Control Protocol) ซึ่งรับผิดชอบในการจัดส่งข้อมูลจากผู้ส่งไปยัง ผู้รับ ส่วนโพรโทคอล IP (Internet Protocol) จะแบ่งข้อมูลออกเป็นแพ็กเกตเรียกว่า ดาต้าแกรม (Datagram) ใส่หมายเลขที่อยู่ผู้รับและจัดการส่งออกไปยังโหนดข้างเคียง ซึ่งจะส่งต่อไปยังผู้รับในที่สุดปัจจุบันโพรโทคอล IP นับเป็นรุ่นที่ 4 เรียกว่า IPv4 ซึ่งมีความยาวของที่อยู่บนระบบเครือข่ายเป็น 32 บิต รุ่นล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาจนพร้อมใช้งานแล้วเรียกว่า IPv6 ได้เพิ่มความยาวของที่อยู่บนระบบเครือข่ายเป็น 128 บิต จึงสามารถสนับสนุนการขยายตัวของระบบอินเทอร์เน็ตได้อีกมากมาย
โพรโทคอล TCP/IP ทำงานอยู่บนโพรโทคอลอื่น ๆ เช่น โพรโทคอล Ethernet ซึ่งทำหน้าที่จัดการบริหารการรับและส่งข้อมูลในระบบเครือข่ายเฉพาะบริเวณ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับโพรโทคอลอื่น เช่น HTTP ในการเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้
องค์กร IETF (Internet Engine Task Force) เป็นองค์กรสากลที่มีความรับผิดชอบในการกำหนดโพรโทคอลแบบใหม่ ๆ และโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ในงานระบบอินเทอร์เน็ต องค์กรนี้เป็น องค์กรขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2529 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติทั้งที่เป็น ผู้ออกแบบระบบเครือข่าย ผู้ควบคุมฯ ตัวแทนจำหน่ายและนักวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนา โครงสร้างของระบบอินเทอร์เน็ตและการทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานี้องค์กร IETF ได้ทำหน้าที่อย่างดีแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

3.บริการอื่น ๆ บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
ตอบ 1. โกเฟอร์
โดยปกติผู้ใช้ที่เรียกใช้โปรแกรมเทลเน็ต (Telnet) เพื่อติดต่อเข้าไปยังโฮสต์เครื่องหนึ่งมักจะประสบปัญหากับความไม่คุ้นเคยกับระบบปฏิบัติการที่ใช้งานอยู่ในโฮสต์นั้น ๆ ทำให้การค้นหาข้อมูลที่ตนเองต้องการเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพื่อแก้ปัญหานี้คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมิเนโซต้า (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาโปรแกรมโกเฟอร์ (Gopher) ขึ้นมาใช้งานใน พ.ศ. 2534 โปรแกรมนี้จะช่วยสร้างเมนูหรือข้อเลือกสำหรับการทำงานที่ต้องการที่สามารถทำงานได้กับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น DOS, Windows 9x, Windows NT, Mac-OS, Unix และอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ใช้ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับระบบปฏิบัติการนั้น ๆ สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้โดยง่าย
โปรแกรมโกเฟอร์ประกอบด้วยสองส่วนคือโกเฟอร์สำหรับเครื่องผู้ใช้บริการ (Gopher Server) ทำหน้าที่คอยให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วไป และโกเฟอร์สำหรับผู้ใช้ (Client Gopher) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำงานอยู่บนเครื่องผู้ใช้ ระบบเมนูหรือตัวเลือกของโกเฟอร์นั้นคือโปรแกรมย่อยสำหรับค้นหาข้อมูลตามคุณลักษณะ เช่น หัวข้อเรื่อง หรือชื่อใด ๆ ที่ผู้ใช้ต้องการค้นหา ซึ่งจะมีโครงสร้างเหมือนกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทใดก็ตาม ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของโปรแกรมนี้ต้องการสร้างส่วนที่ติดต่อผู้ใช้ให้เหมือนกันหมด (Common User Interface) สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมไดจากเว็บไซต์ของโกเฟอร์ที่ gopher://wx.atmos.uiuc.edu/
2 โปรแกรมค้นหาข้อมูล
การค้นหาข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ไม่มีความคุ้นเคยหรือขาดประสบการณ์เนื่องจากปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ อีกทั้งไม่มีผู้ใดทำหน้าที่ดูแลจึงมีสภาพคล้ายกับห้องสมุดขนาดใหญ่ แต่ไม่มีบรรณารักษ์และหนังสือก็ไม่มีการจัดเรียงตามหมวดหมู่เลย อย่างไรก็ตามได้มีบริษัทหลายแห่งเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ทั่วไปโดยการนำ ข้อมูลจำนวนมากบนระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาจัดเรียงตามหมวดหมู่ต่าง ๆ ทำหน้าที่คล้ายกับห้องสมุดอินเทอร์เน็ต ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้บรรจุข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้ทั้งหมดแต่ก็บรรจุข้อมูลไว้มากพอที่จะให้ผู้ใช้ ค้นหาเว็บไซต์ที่ต้องการ และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดโดยตรงจากเว็บไซต์นั้น ๆ ได้อย่างง่ายดาย บริษัทที่ให้บริการประเภทนี้เรียกโปรแกรมสำหรับค้นหาข้อมูลบนระบบอินเทอร์เน็ตว่า เซิร์ชเอ็นจิน(Search Engine) หรือเซิร์ชทูล (Search Tool)
3 อาร์ชี
โปรแกรมที่ช่วยค้นหาข้อมูลอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า อาร์ชี (Archie) พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ค้นหาแฟ้มข้อมูลที่มีไว้ให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วไปที่เก็บรักษาไว้ที่เครื่องผู้ให้บริการบนระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการจะมีอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ โปรแกรมอาร์ชีช่วยให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกในการเข้าไปค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์เหล่านี้โดยจัดการขออนุญาตเข้าไปใช้บริการ (Log in) ให้โดยอัตโนมัติ ข้อมูลที่เป็นชื่อแฟ้มข้อมูลจะถูกสร้างสำเนาเข้าไปเก็บไว้ในเว็บไซต์อาร์ชี เพื่อให้ผู้ใช้สามารถดูได้โดยสะดวก เมื่อ ผู้ใช้เลือกแฟ้มข้อมูลที่ต้องการได้แล้วโปรแกรมอาร์ชีจึงจะไปสร้างสำเนาแฟ้มข้อมูลนั้นขึ้นมาและส่งไปให้ผู้ใช้ในที่สุด การใช้งานโปรแกรมอาร์ชีอาจมีขั้นตอนยุ่งยากอยู่บ้างเพราะอาจต้องสมัครเป็นสมาชิก และผู้ใช้จะต้องเรียนรู้การใช้งาน นอกจากนี้ผู้ใช้อาจต้องเรียนรู้คำสั่งบางอย่างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น
4 เวอร์โรนิกา
โปรแกรมเวอร์โรนิกา (Veronica) เป็นโปรแกรมช่วยเหลือผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานโปรแกรมโกเฟอร์แต่ไม่สามารถใช้โปรแกรมโกเฟอร์ได้ (เนื่องจากโกเฟอร์ทำงานด้วยการสั่งงานเป็นคำสั่งโดยตรงเท่านั้น) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเวอร์โรนิกาเป็นโกเฟอร์ที่ทำงานแบบกราฟิกที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้มากขึ้นและมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
5 นิวส์กรุปและรายชื่อกลุ่ม
ปัญหาในเรื่องปริมาณข่าวสารบนระบบอินเทอร์เน็ตได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบสำหรับการรับ-ส่งข่าวสารอัตโนมัติขึ้นมาสองระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ คือ นิวส์กรุป (News Group) และ รายชื่อกลุ่ม (Mailing Lists)
5.1 นิวส์กรุปตัวอย่างของระบบนิวส์กรุปที่มีผู้นิยมใช้งานมากได้แก่ Usenet News Group มีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการแลกเปลี่ยนข่าวสารหรือความคิดเห็นในลักษณะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ใช้ที่เป็นสมาชิก ผู้ใช้สามารถส่งข่าวสารไปที่ศูนย์บริการข่าวสารเพื่อประกาศหรือโฆษณาให้สมาชิกผู้อื่นได้ทราบ และสามารถดูข่าวสารที่ผู้อื่นติดประกาศไว้ ซึ่งผู้ใช้ก็สามารถส่งข้อความร่วมแสดงความคิดเห็นกับข่าวสารนั้น ๆ ได้ ในยุคแรกก่อนที่จะมีนิวส์กรุปมีการให้บริการในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เรียกว่า กระดานสื่อสาร (Bulletin Board) แต่เป็นการทำงานที่เน้นการรับ-ส่งข้อความเพียงอย่างเดียว (Text Based)
นิวส์กรุปจะมีข่าวสารข้อมูลเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่แทบทุกวัน เว็บไซต์อย่างเช่น ftp://ftp.uu.net/networking/news/config เป็นที่รวบรวมรายชื่อนิวส์กรุปจำนวนมาก ส่วนการเข้าไปอ่านข่าวสารในนิวส์กรุปจะต้องใช้โปรแกรมเรียกว่า Newsreader Program ซึ่งมีอยู่มากมายโดยเฉพาะในระบบปฏิบัติการยูนิกส์
5.2 รายชื่อกลุ่ม
รายชื่อกลุ่มมีความคล้ายคลึงกับนิวส์กรุปมาก นั่นคือเป็นวิธีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลระหว่างผู้ใช้บนระบบอินเทอร์เน็ต ส่วนที่แตกต่างกันคือ ผู้ใช้รายชื่อกลุ่ม (Mailing Lists หรือ Listserv) จะต้องมีการลงทะเบียนหรือสมัครเป็นสมาชิกแบบรายบุคคลก่อน รายชื่อกลุ่มแบ่งออกเป็นสามประเภทคือ
(1) แบบรับข่าวสารจากสมาชิกอื่น (Unmoderated List) สมาชิกจะได้รับข่าวสารที่ถูกส่งจากสมาชิกอื่น
(2) แบบผ่านศูนย์ควบคุม (Moderates List) จะมีโปรแกรมควบคุมที่ศูนย์กลาง (เรียกว่า Listserver Moderator) เป็นผู้ตัดสินใจว่าข่าวสารชนิดใดสมควรจะถูกส่งต่อไปให้สมาชิก ทั้งหมด
(3) แบบศูนย์ข่าวสารชั้นดี (Digest) เป็นที่รวบรวมของข่าวสารชั้นดีที่ได้รับการคัดเลือกเก็บไว้คล้ายกับแมกกาซีนหรือวารสารที่ผู้ใช้จะต้องเข้ามาเลือกจะเห็นได้ว่าบทบาทของรายชื่อกลุ่มนั้นเหมือนกับการที่ผู้ใช้บอกรับหนังสือพิมพ์หรือวารสารทั่วไป ผู้ใช้จะต้องเสียค่าสมาชิกจึงจะได้รับหนังสือพิมพ์หรือวารสารนั้นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อไม่ต้องการอ่านข่าวสารนั้น ๆ อีกต่อไป ผู้ใช้ก็จะต้องบอกเลิกหรือหยุดการชำระค่าสมาชิกได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น